วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก (ดอยฟ้าห่มปก)

เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก และเปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกในปัจจุบ้น

มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 524 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนของทิวเขาผีปันน้ำ มีความสูงตั้งแต่ 400-2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีดอยสำคัญได้แก่ ดอยฟ้าห่มปก ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม และดอยอ่างขาง สภาพป่าส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์อยู่มาก ทั้งป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณในระดับเชิงเขา ป่าดิบแล้งบริเวณริมลำห้วยลำธาร ป่าสนเขาและป่าดิบเขาบนยอดเขาสูง ป่าผืนนี้เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำฝาง มีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ตะเคียน มะไฟป่า ตะแบก สัก จำปีป่า ฯลฯ รวมทั้งพันธุ์ไม้ที่หายากของไทย เช่น เทียนหาง กุหลาบพันปี เป็นต้น ด้วยสภาพพื้นที่ที่ติดต่อกับป่าธรรมชาติในพม่า ทำให้มีสัตว์ป่าย้ายถิ่นเข้ามาอยู่เป็นประจำ ป่าแห่งนี้จึงชุกชุมด้วยสัตว์นานาชนิด เช่น เก้ง กวาง หมี หมูป่า เลียงผา ฯลฯ 
ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
การเดินทาง ไปอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จากเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ถึงตัวเมืองฝางตรงไปจนพบสามแยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายไป 9 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางชัดเจนตลอดทาง เป็นถนนลาดยาง จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ
มีรถประจำทางปรับอากาศของ บริษัทขนส่งจำกัด และบริษัทรถร่วมเอกชน ระหว่างกรุงเทพ-ฝาง, เชียงใหม่-ฝาง เมื่อถึง อ.ฝาง จะมีรถรับจ้างคอยบริการรับส่งสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อีกประมาณ 10 กม.
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ

อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก (ดอยฟ้าห่มปก)


โป่งน้ำร้อนฝาง เกิดจากพลังงานความร้อนใต้ผิวโลก น้ำมีอุณหภูมิสูงถึง 90-130 องศาเซลเซียส มีน้ำแร่ทั้งปี บริเวณกว้างโปร่งตา โป่งน้ำร้อนฝางมีห้องบริการอาบน้ำแร่ ทั้งห้องอาบน้ำและอบไอน้ำ รวมทั้งบ่ออาบน้ำร้อนกลางแจ้ง เปิดให้บริการตั้งแต่ 08.00-20.00 น. โป่งน้ำร้อนอยู่ในบริเวณเดียวกับที่ทำการฯ นอกจากนี้จากที่ทำการอุทยานฯ ยังมีเส้นทางเดินขึ้นเขาผ่านป่าเบญจพรรณมาถึงโป่งน้ำร้อนระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร ห่างจากบ่อน้ำร้อนประมาณ 300 เมตรจะมี ห้วยแม่ใจ ซึ่งมีน้ำไหลมากตลอดปี
น้ำตกโป่งน้ำดัง เป็นน้ำตกหินปูนขนาดเล็ก แต่มีเสน่ห์ไม่แพ้น้ำตกขนาดใหญ่ มีถ้ำเล็กๆ พอให้คนเข้าไปนั่งเล่นได้ 3-4 คน เพดานถ้ำมีน้ำหยดตลอดเวลาและเกิดเป็นหินงอกเล็กๆ ไปทั่ว การเดินทาง จากอ.ฝาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (ฝาง-เชียงใหม่) ไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงวัดแม่สูนหลวงเลี้ยวขวาข้างวัดเข้าไปตามทางอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติ มฝ. 3 จากนั้นต้องเดินตามเส้นทางป่าไปสู่น้ำตก ระยะทางไป-กลับประมาณ 1.5 กิโลเมตร ระหว่างทางผ่านป่าดิบแล้งที่ร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่ บางช่วงต้องเดินข้ามลำธารที่มีน้ำใสไหลเย็น
ดอยฟ้าห่มปก มีความสูง 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล จึงมีเมฆหมอกปกคลุมยอดดอยและมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ดอยฟ้าห่มปก คือหนึ่งในเทือกเขาแดนลาวที่ทอดตัวยาวตั้งแต่ทางตอนใต้ของยูนนานลงมาแบ่งชาย แดนไทย-พม่า ตั้งแต่เชียงรายไปจนถึงแม่ฮ่องสอนจนไปจรดกับเทือกเขาถนนธงชัย
บนดอยฟ้าห่มปกมีนก และผีเสื้อที่น่าสนใจ เช่น นกปีกแพรสีม่วง นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปกซึ่งพบที่นี่แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ เป็นต้น ในฤดูหนาวมีนกอพยพมาอาศัย เช่น นกเดินดงคอแดง นกเดินดงดำปีกเทา นกเดินดงสีน้ำตาลแดง เป็นต้น
นักท่องเที่ยวตั้งแค้มป์พักแรมได้ตรงบริเวณกิ่วลม เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติไม่อนุญาตให้พักแรมบนยอดดอยฟ้าห่มปกซึ่งเป็น หน้าผาชันและอาจเกิดอันตรายได้ การเดินทางขึ้นยอดดอยฟ้าห่มปกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน 1 คืน ก่อนเดินทางควรติดต่อขออนุญาต ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ค่าเช่ารถขึ้นจากอุทยานไปส่งที่ทางขึ้นดอยไปส่ง-รับประมาณ 1,500 บาท สอบถามรายละเอียดที่อุทยานฯ โทร. 0 5345 1441 ต่อ 302, 0 5345 3517-8
การเดินทาง จาก อ.ฝาง ใช้ทาง รพช. สายฝาง-บ้านห้วยบอน ไปจนถึงบ้านห้วยบอน ให้ตรงไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 5 กิโลเมตร มีทางแยกขวาขึ้นเขาชันไปประมาณ 13 กิโลเมตร จะพบหน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาหลวง ตรงไปจนพบสามแยก ถ้าตรงไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สาวถ้าไปทางแยกซ้ายประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงกิ่วลมซึ่งมีลักษณะเป็นเขาและมีลานสำหรับจอดรถได้ถ้าเดินทางต่อจากกิ่ว ลมไปอีก 5 กิโลเมตร จะถึงปางมงคล ผู้สนใจเดินทางขึ้นดอยฟ้าห่มปกต้องติดต่อที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติก่อนการ จะเดินทางขึ้นสู่จุดยอดดอยฟ้าห่มปกนั้นต้องเตรียมตัวอย่างดีเพราะต้องเดิน ป่าปีนเขาอย่างสมบุกสมบันและที่นี่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆนักท่องเที่ยว ต้องเตรียมไปเอง
ถ้ำห้วยบอน เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 300 เมตร ภายนอกถ้ำอาจดูไม่น่าสนใจนัก แต่เมื่อเข้าไปถึงประมาณกลางถ้ำ จะพบโถงถ้ำใหญ่ซึ่งจุคนได้ประมาณ 40-50 คน สภาพถ้ำเต็มไปด้วยเสาหินและหินงอกหินย้อยขนาดต่างๆซึ่งดูน่าตื่นตาตื่นใจมาก ถ้ำห้วยบอนเป็นถ้ำที่ยังมีการสะสมตัวของหินปูนสังเกตได้จากการมีน้ำหยดตาม ผนังถ้ำและหินงอกหินย้อยต่าง ๆ ตลอดเวลา การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับทางไปกิ่วลมเพื่อขึ้นดอยฟ้าห่มปก
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ในอุทยานฯ ได้จัดเตรียมบ้านพัก ห้องอาบน้ำแร่ ห้องอบไอน้ำ ร้านอาหาร และ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และลานกางเต็นท์ พร้อมเต็นท์และเครื่องนอนให้เช่าในราคา 250-800บาท / คืน (พักได้ 2-6 คน) และมีบริการให้เช่าชุดเครื่องนอนประกอบด้วย หมอน ถุงนอน ที่รองนอนและชุดสนาม ในอัตรา 150 บาท/ชุด/คืน หรือชุดเครื่องนอนประกอบด้วยหมอนใหญ่ ที่นอน ผ้าห่มและชุดสนามในอัตรา 200 บาท/ชุด/คืน โดยติดต่อและชำระค่าธรรมเนียมได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ
สถานที่ติดต่อ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ตู้ปณ.39 ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 50110 โทร. 0 5345 3517-8 ต่อ 104 หรือติดต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือสำรองที่พักด้วยตนเองที่ http://www.dnp.go.th/

  อุทยานแห่งชาติจะทำการปิดบริเวณยอดดอยผ้าห่มปก ระหว่างวัน 1 กรกฎาคม - 30 กันยายนของทุกปี

ก่อนการเข้าไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวควรมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ โดยดูได้จากเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช http://www.dnp.go.th/  และแนะนำนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่มี การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ ให้ติดต่อสอบถามหรือสำรองการเข้าไปใช้บริการ ล่วงหน้าก่อนการเดินทางที่อุทยานแห่งชาติโดยตรงได้ที่ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5345 3517-8 ตลอด 24 ชั่วโมง

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผามีน้ำตกให้เที่ยวหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เส้นทางยังไม่สะดวกนัก เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างพัฒนาพื้นที่ น้ำตกที่เดินทางเข้าถึงสะดวกที่สุดคือ น้ำตกห้วยทรายขาว ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีแอ่งน้ำให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้แต่ในช่วงฤดูแล้งน้ำจะน้อยมาก จะมีน้ำเยอะช่วงเดือนพฤษภาคมแต่น้ำจะขุ่น น้ำจะใสช่วงหลังฝน ชั้นบนของน้ำตกเป็นแอ่งน้ำและมีทรายอยู่เนื่องจากน้ำพัดเอาทรายมาจากการกัด กร่อนของหินทราย ชั้นบน อากาศบริเวณน้ำตกชื้นจนทำให้มีมอสจับอยู่
 
แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกแม่ฝางหลวง น้ำตกดอยเวียงผา น้ำตกห้วยหาน และจุดชมวิวดอยเวียงผา อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผามีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 583 ตารางกิโลเมตร สภาพป่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ นอกจากนี้ยังมีป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าสนเขา นกที่พบ เช่น นกกินปลี และนกพญาไฟ สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่จะเป็นขนาดกลางและสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ กระรอก กระต่าย หมูป่า อีเห็น เก้ง เลียงผา เสือไฟ เม่น หมีควาย เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา

 
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานมีบริการบ้านพัก 2 หลัง โดยติดต่อที่อุทยานโดยตรง
การเดินทาง จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ไปประมาณ 125 กิโลเมตร อยู่ก่อนถึงตัวเมืองไชยปราการประมาณ 2 กิโลเมตร ให้สังเกต โรงเรียนศรีดงเย็นทางด้านซ้ายมือ ทางเข้าอุทยานอยู่ฝั่งตรงข้าม (ด้านขวามือ) เข้าไปประมาณ 12 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติขุนขาน



อุทยานแห่งชาติขุนขาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 397 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอสะเมิง และอำเภอแม่แจ่ม  ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนที่สูงตั้งแต่ 500-1,708 เมตร จากระดับน้ำทะเล มียอดดอยสูงสุดคือ ดอยปุ้งเกี้ย พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา และป่าดิบเขา สถานที่น่าสนใจ ได้แก่ บ่อน้ำอุ่นธรรมชาติ ตั้งอยู่ตรงที่ทำการอุทยานฯ น้ำมีอุณหภูมิสูงประมาณ 38 องศาเซลเซียส
      การเดินทาง จากเชียงใหม่ไปอุทยานแห่งชาติขุนขาน สามารถไปได้ 2 เส้นทาง
    - เส้นทางแรกใช้ทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-แม่ริม แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 1096 จนถึง อำเภอสะเมิง
    - อีกเส้นทางหนึ่งใช้ทางหลวงหมายเลข 108 สายเชียงใหม่-หางดง แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 1269 จนถึง อำเภอสะเมิง จากอำเภอสะเมิงไปตามทาง รพช. สายสะเมิง-บ้านวัดจันทร์ เส้นทางนี้มีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ป่าผลัดใบสองข้างทางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือ สีส้ม สีแดง ละลานตาไปทั้งผืน
      บนเส้นทางสายแม่ริม-สะเมิงยังมีรีสอร์ทหลายแห่งที่ประดับด้วยดอกไม้และ ตกแต่งสวยงามพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและบางแห่งยังมีกิจกรรมเสริม เช่น แม่สาวาเลย์ (สาธิตการทำกระดาษสา วาดร่ม) แม่สารีสอร์ท (มีสนามกอล์ฟ 9 หลุม) ไร่กังสดาล เชียงใหม่รีสอร์ท  เอราวัณรีสอร์ท  โป่งแยงแอ่งดอยรีสอร์ท  ต้นตองคันทรีโฮม และห้องอาหารต้นตอง เป็นต้น 


อุทยานแห่งชาติขุนขาน

ข้อมูลทั่วไป

อุทยาน แห่งชาติขุนขานอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง และป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลแม่สาบ ตำบลบ่อแก้ว ตำบลสะเมิงเหนือ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง และตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่นาจาร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ ได้ทำการสำรวจและพิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีสภาพธรรมชาติอันสวยงาม มีน้ำตก หน้าผา ถ้ำ หลายแห่งเหมาะสมให้กรมป่าไม้ทราบและพิจารณา กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งที่ 934/2536 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2536 ให้นายสุรศักดิ์ วุฒิอิ่น ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ มาดำเนินการสำรวจจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติขุนขาน”

การดำเนินการสำรวจจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขุนขาน ได้ดำเนินการสำรวจมีเนื้อที่ประมาณ 442,500 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง และป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลแม่สาบ ตำบลบ่อแก้ว ตำบลสะเมิงเหนือ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิงและตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่นาจาร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ รายงานให้ ส่วนอุทยานแห่งชาติและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า พื้นที่บริเวณที่สำรวจจัดตั้งทับซ้อนกับพื้นที่ที่กำลังมีปัญหาร้องเรียน เกี่ยวกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติภาคเหนือ 13 แห่ง จึงได้มีมติที่ประชุม “ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนขานไปดำเนินการแก้ไข ปัญหาราษฎรร้องเรียนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 13 แห่ง ทับซ้อนพื้นที่ทำกินของราษฎรก่อน”

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนขาน ได้เข้าร่วมดำเนินการพิจารณาแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของราษฎร ของคณะกรรมการตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาโดยตลอด จนถึง ปี พ.ศ.2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 เห็นชอบผลการเจรจากลุ่มปัญหาป่าไม้และที่ดิน กรณีป่าอนุรักษ์ภาคเหนือ (เขตอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1) จำนวน 19 แห่ง ซึ่งปรากฏว่าไม่มีรายชื่ออุทยานแห่งชาติขุนขานอยู่ในข้อเรียกร้องแล้ว สำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการประชุมชี้แจง แก่สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่จำนวน 6 ตำบล รวมทั้งทำการเดินสำรวจกันเขตที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของราษฎรออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน สมาชิก อบต. และร่วมกันกำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ พร้อมปรับลดพื้นที่ให้เหมาะต่อการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติในอนาคต ทำให้ขนาดของพื้นที่ลดลงเหลือเนื้อที่ประมาณ 150,000 ไร่

ในปัจจุบันคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติต่อไปแล้ว

 ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ อุทยานแห่งชาติขุนขานตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 18 องศา 46 ลิปดา ถึง 19 องศา 02 ลิปดาเหนือ และลองติจูดที่ 98 องศา 23 ลิปดา ถึง 98 องศา 49 ลิปดาตะวันออก อาณาเขตทิศเหนือจด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสะเมิง ท้องที่ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้จดพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ท้องที่ตำบลบ่อแก้ว ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกจด เขตอำเภอแม่ริม ท้องที่ตำบลโป่งแยง ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันตกจด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม ท้องที่ตำบลแม่แดด ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนโดยทั่วไป มีความสูงตั้งแต่ 500-1,708 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาที่สุงที่สุดคือ ยอดดอยปุงเกี้ย สูง 1,708 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำแม่ขาน และแม่น้ำแม่แจ่ม แม่น้ำทั้ง 2 สาย ไหลลงสู่แม่น้ำปิง

 ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพ ภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส ต่ำสุดเฉลี่ย 18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไป 23 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,380 มิลลิเมตร

 พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติ ประกอบไปด้วยป่า 5 ชนิด คือ

ป่าดิบเขา พบตามภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป บริเวณตอนบนของพื้นที่และบริเวณเทือกเขาแบ่งเขตอำเภอสะเมิงกับอำเภอแม่แจ่ม พันธุ์ไม้ที่พบมากได้แก่ ก่อ สนสามใบ ทะโล้ ตุ้มเต๋น มะขามป้อม จำปี มะส้าน สารภีป่า นมนาง เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบทั่วไปบริเวณหุบเขาและริมลำห้วยในระดับความสูง 600-1,000 เมตร พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ ยาง ตะเคียน มะม่วงป่า ลำไยป่า มะไฟ มะเดื่อ เป็นต้น

ป่าสนเขา พบตามยอดเขาโดยทั่วไปที่ระดับความสูง 700-1,300 เมตร พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ ก่อ รัก รัง เหียง เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ พบทางทิศตะวันออกของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้แก่ สัก เติม สมอไทย เส้า แดง ประดู่ เสี้ยว มะแฟน ซ้อ เป็นต้น

ป่าเต็งรัง พบมากโดยทั่วไปบริเวณภูเขาที่ไม่สูงมากนัก พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง สนสองใบ มะกอก เส้า เสี้ยว เป็นต้น

สัตว์ป่าที่มีมาก ได้แก่ เก้ง หมูป่า ไก่ป่า เม่น หมาไน หมาจิ้งจอก นิ่ม ตุ่น กระรอก กระต่ายป่า บ่าง ค้างคาว อีเห็น พังพอน เป็นต้น ที่มีน้อยได้แก่ ลิง ชะนี เสือ เลียงผา นกกก เป็นต้น

ขุนแม่ยะ เชียงใหม่ ดอกนางพญาเสือโคร่ง

ดอกนางพญาเสือโคร่ง ณ ขุนแม่ยะ ตั้งอยู่ในความดูแลของ หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ ในสังกัดส่วนจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่ และ แม่ฮ่องสอน คือตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นดอยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,020 เมตร อาณาเขตพื้นที่ราว 87,500 ไร่ โดยพื้นที่ ทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ เลา–แม่แสะ ในช่วงแรกขุนแม่ยะ เป็น ผืนป่าที่เสื่อมโทรม ถูกทำลายจนราบโล่ง แต่ต่อมาทางหน่วยได้เริ่มปลูกต้นพญาเสือโคร่งเพื่อเป็น การฟื้นฟูป่า ในช่วงแรกเนื่องจากต้นพญาเสือโคร่ง เป้นต้นไม้ที่เจริญเติบโตเร็วและยังมีดอกที่สวยงามอีกด้วยจนทุกวันนี้ต้น พญาเสือโคร่งเป็นที่รู้จักกันนามของ ดอกซากุระเมืองไทย ที่สวยงามไม่แพ้ที่ใด


การเดินทางมาชมดอกพญาเสือโคร่งที่ ขุนแม่ยะ ถ้าตั้งต้นจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ให้ใช้เส้นทางถนน โชตนา (เชียงใหม่ – ฝาง) มาถึงบ้านแม่มาลัย ประมาณหลัก กม.34 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1095 ทางไปปาย ไปห้วยน้ำดัง ขึ้นเขาคดเคี้ยวชมวิวไปจนถึงทางเข้า ห้วยน้ำดังด้านขวามือให้ชะลอรถขับช้าๆต่อไปเตรียมตัวได้เลย อีกกิโลเมตรกว่าๆถึง ด่านตรวจแม่ยะ หลัก กม. 67 + 500 เป็นอันว่าถึงต้นทางขึ้นดอยแล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าถนน วิบากดินลูกรังขับไต่ความสูงชันขึ้นดอย ประมาณ 8 กม. ก็จะถึงที่ทำการ หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ ถนนทาง เข้าก็ค่อนข้างลำบากเนื่องจากที่นี่เป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ไม่มีนโยบายที่จะทำถนนถึงแม้จะเป็น สถานที่ ท่องเที่ยวก็ตามระหว่างทาง ที่นั่งรถมาผ่านทางลูกรังที่บางช่วงยังยากลำบาก ระหว่างทางเต็มไปด้วยผืนป่ารกทึบ อุดมสมบูรณ์และแน่นอนบนเส้นทางจะพบต้นนางพญาเสือโคร่งกระจายอยู่กับต้นสนสาม ใบและ และเมื่อถึง หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะสิ่งแรกที่เราเห็น ี่ตั้งแต่ปากทางเข้าคือ ความสวยงามของเจ้าดอกพญาเสือโคร่งที่เบ่ง บานเต็มยอดดอย

การเดินทาง และ ช่วงเวลา
สามารถเดินทางโดยรถยนส่วนตัว เป็นทางรูกรัง ทางค่อนข้างยากไม่เหมาะสำหรับรถเก๋ง ไม่มีที่พักไว้ให้บริการ ต้องเอาเต้นท์และอาหารไปเอง
ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ต้นเดือนมกราคม

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทะเลสาบดอยเต่า

ทะเลสาบดอยเต่า

อยู่ในเขตอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงภายหลังการสร้างเขื่อนภูมิพล เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล เคยใช้ในการเกษตรกรรม การประมง  ในบริเวณอ่างเก็บน้ำ หากมีน้ำมากพอ (โดยมากจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน) จะมีบริการแพพัก ราคา 1,000-1,500 บาท และเรือนำเที่ยวไปยังเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก รายละเอียดติดต่อ บริษัท ท่องนที จำกัด โทร. 0 2457 6873-4, 0 2457 3428

การเดินทาง จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ไปยังอำเภอฮอด ระยะทาง 90 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 1130 ไปยังทะเลสาบดอยเต่าอีก 35 กิโลเมตร รวมระยะทางจากจังหวัดเชียงใหม่ 125 กิโลเมตร



ทะเลสาบดอยเต่า


ดอยเชียงดาว

ดอยเชียงดาว

สูงอันดับ 3 ของประเทศ แต่ต้องเดินขึ้นเท่านั้น อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ยอดสูงสุดของดอยเชียงดาว เรียกว่า ดอยหลวงเชียงดาว (เพี้ยนมาจากคำที่ชาวบ้านในละแวกเปรียบเทียบดอยนี้ว่าสูง เพียงดาว) มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนรูปกรวยคว่ำสูง 2,195 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นยอดดอยที่สูงอันดับ 3 ของประเทศรองจากดอยอินทนนท์และผ้าห่มปก จากบนยอดดอยซึ่งเป็นที่ราบแคบๆ สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามรอบด้าน คือ ทะเลหมอกด้านอำเภอเชียงดาว ดอยสามพี่น้อง เทือกดอยเชียงดาว ตลอดจนถึงยอดดอยอินทนนท์อันไกลลิบอากาศเย็น ลมแรง และสมบูรณ์ด้วยดอกไม้ป่าภูเขาที่หาชมได้ยากมากมายรวมทั้งนกและผีเสื้อด้วย (ไม่เหมาะที่จะขึ้นไปยืนบนยอดดอยทีละกลุ่มใหญ่ๆ เพราะจะไปเหยีบย่ำทำลายพรรณไม้บนนั้นได้แม้จะโดยไม่ตั้งใจก็ตาม)

การเข้าไปใช้พื้นที่ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ ป่า กรมป่าไม้ อย่างน้อย 2 อาทิตย์ก่อนการเดินทาง รายละเอียด โทร. 0 2561 2947

การเดินทางสู่ยอดดอยเชียงดาวเริ่มที่ถ้ำเชียงดาว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถติดต่อคนนำทาง ลูกหาบ รวมทั้งรถไปส่งที่จุดเริ่มเดินได้ โดยค่าเช่ารถประมาณ 900 บาท ค่าจ้างลูกหาบประมาณวันละ 300 บาทต่อลูกหาบหนึ่งคน บนดอยเชียงดาวไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวไปด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน อาหาร และน้ำ ส่วนเส้นทางลงนิยมใช้ทางสายบ้านถ้ำซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำเชียงดาว เพราะมีทางสูงชันสามารถลงได้รวดเร็วกว่าแต่ไม่เหมาะกับการขึ้น  


ดอยเชียงดาว
  

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทุ่งบัวตอง ดอยแม่อูคอ

ทุ่งบัวตอง ดอยแม่อูคอ



ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม ตามเส้นทางหมายเลข 108 (แม่ฮ่องสอน - ขุนยวม) ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายตามทางหลวงสาย 1263 เข้าสู่ทุ่งบัวตองอีก 26 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางมีพื้นที่ครอบคลุมเป็นเขากว้างประมาณ 1 พันไร่ อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูง หน่วยที่ 5 กองอนุรักษ์ต้นน้ำ ดอกบัวตองที่นี่เมื่อบานพร้อมๆ กันในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม จะเหลืองอร่ามปกคลุมทั่วทั้งภูเขา มีความสวยงามมาก


ทุ่งบัวตอง ดอยแม่อูคอ

ทุ่งบัวตอง ดอยแม่อูคอ


ทุ่งบัวตอง ดอยแม่อูคอ




อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

ดอยอ่างขาง

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (ตอนที่ 2)

Image
พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริและพระมหาธาตุนภเมทนีดล ดอยอินทนนท์

พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ   ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41.5 ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ  สร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2535 พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ ฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ ยอดปลีขององค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา รอบบริเวณสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์ได้อย่างสวยงาม
 

ยอดดอยอินทนนท์

ยอดดอยอินทนนท์  จุดสิ้นสุดของทางหลวงหมายเลข 1009 เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย (2,565 เมตร) มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี เป็นที่ตั้งสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทยและเป็นที่ประดิษฐานสถูปเจ้าอิน ทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้และหวงแหนดอย หลวงเป็นอย่างมากต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ท่านผูกพันกับที่นี่มากจึงสั่งว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้แบ่งเอาอัฐิส่วน หนึ่งมาไว้ที่นี่

ศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวอยู่บริเวณใกล้กับยอดดอย แสดงนิทรรศการเรื่องราวของดอยอินทนนท์จากอดีตถึงปัจจุบัน ให้ความรู้ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์  ทางชีววิทยา  ป่าไม้ สิ่งมีชีวิต ซึ่งบางชนิดหาดูได้ที่นี่แห่งเดียวในเมืองไทย ผู้มาเยือนจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย

น้ำตกห้วยทรายเหลือง  เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลแรงตลอดปี และไหลจากหน้าผาลงมาเป็นชั้น ๆ เข้าทางเดียวกับน้ำตกแม่ปาน ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มประมาณ 16 กิโลเมตร  แยกจากทางหลวงหมายเลข 1009   ตรงด่านตรวจกิโลเมตรที่ 38    ไปตามทางหลวงหมายเลข 1192 สายอินทนนท์-แม่แจ่ม ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางไปน้ำตก เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางดินแดงในช่วงหน้าฝนทางลำบากมากต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ


ดูนกที่อ่างกาหลวง
กิจกรรมดูนกบนดอยอินทนนท์ จากการสำรวจพบว่ามีนกอยู่ 380 ชนิด แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นหากต้องการดูนก นักท่องเที่ยวสามารถชมได้ตั้งแต่ บริเวณด่านตรวจที่ 1 จนถึงยอดดอย โดยมีจุดเด่นดังนี้ บริเวณกม. 13, กม. 20, บริเวณที่ทำการฯ, บริเวณกม.ที่ 34.5, กม.ที่ 37 หรือจี๊ป แทรค กิ่วแม่ปาน กม. 42, บนยอดดอยอินทนนท์ และศูนย์บริการข้อมูลนกอินทนนท์ที่ร้านลุงแดง ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 31 หน่วยจัดการต้นน้ำแม่กลาง ให้บริการด้านข้อมูลนกในดอยอินทนนท์ เช่น สมุดบันทึกการพบนกในดอยอินทนนท์ ภาพวาดลายเส้นของนักดูนก แผนที่เส้นทางดูนกดอยอินทนนท์ ภาพถ่าย สไลด์เกี่ยวกับนก ฯลฯ ให้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ช่วงที่นักดูนกนิยมมาดูนกกันเป็นฤดูหนาว นอกจากจะได้พบนกประจำถิ่นแล้ว ยังสามารถพบนกอพยพ เช่น นกปากซ่อมดง  นกอุ้มบาตร  นกเด้าลมหลังเทา นกเด้าลมหลังเหลือง  นกเด้าลมดง  นกเด้าลมหัวเหลือง  นกจาบปีกอ่อนเล็ก  นกจาบปีกอ่อนหงอน  นกจาบปีกอ่อนสีแดง  นกเดินดงสีน้ำตาลแดง  ฯลฯ ทางศูนย์ฯจะบริการให้คำแนะนำตลอดจนเป็นสถานที่พบปะสนทนาระหว่างนักดูนก  นักศึกษาธรรมชาติและบุคคลทั่วไป  เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดีต่อการอนุรักษ์และรักษาสภาพธรรมชาติ  ทำให้ทราบถึงแหล่งที่อยู่อาศัย  แหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าในดอยอินทนนท์  ให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

ก่อนการเข้าไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวควรมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ โดยดูได้จากเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช www.dnp.go.th  และแนะนำนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่มี การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ ให้ติดต่อสอบถามหรือสำรองการเข้าไปใช้บริการ ล่วงหน้าก่อนการเดินทางที่อุทยานแห่งชาติโดยตรงได้ที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5326 8550 ตลอด 24 ชั่วโมง และ โทร. 0 5326 8577 ระหว่าง 08.00-17.00 น.



น้ำตกแม่ปาน
น้ำตกแม่ปาน เข้าทางเดียวกับน้ำตกห้วยทรายเหลือง แต่อยู่เลยไปอีก 500 เมตร  และจากจุดจอดรถต้องเดินต่อไปอีก 800 เมตร ใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงจะถึงตัวน้ำตก น้ำตกแม่ปานนับว่าเป็นน้ำตกที่ยาวที่สุดของเชียงใหม่ก็ว่าได้ น้ำจะตกลงมาจากหน้าผาซึ่งสูงกว่า 100 เมตร เป็นทางยาว ถ้ามองดูแต่ไกลจะเห็นสายน้ำยาวสีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ทำให้ดูเด่น น้ำที่ตกลงมายังเบื้องล่างกระทบโขดหินแตกเป็นฟองกระจายไปทั่วบริเวณทำให้มี ความชุ่มชื้น เบื้องล่างมีแอ่งน้ำรองรับอยู่ สามารถพักผ่อนลงอาบเล่นได้

เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนดอยอินทนนท์ กิ่วแม่ปาน ทางเข้า อยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือ ระยะทางเดิน 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 3 ชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริง ระหว่างทางเดินจะพบป่าดิบเขา (Hill Evergreen) ก่อนผ่านเข้าสู่ทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าถูกทำลาย เพื่อเป็นการศึกษาลักษณะการเกิดผลกระทบต่อเนื่องบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่ ป่าสมบูรณ์กับพื้นที่ถูกทำลาย หลังจากนั้นทางเดินจะเลาะริมผามีไอหมอกปลิวผ่านตลอดเวลา จะพบดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron (ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ขึ้นตามป่าในระดับสูง มีพันธุ์ดอกสีขาวและสีแดง เวลาออกดอกช่วงแรกมีลักษณะเหมือนปลีกล้วย ก่อนที่จะบานเต็มต้นในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ พบมากในแถบเทือกเขาหิมาลัยและเป็นไม้ประจำชาติของเนปาลด้วย)  มองลงไปยังเบื้องล่างจะพบทัศนียภาพที่งดงามของอำเภอแม่แจ่ม
การใช้เส้นทางนี้ต้องลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตให้ใช้เส้นทางโดยติดต่อที่ศูนย์ ประชาสัมพันธ์อุทยานฯ และควรจัดกลุ่มละไม่เกิน 15 คน ทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้นำอาหารเข้าไปรับประทานในเส้นทางในช่วงฤดูฝน และจะปิดเส้นทางเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวไม่อนุญาติให้เข้าไปท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 ตุลาคม ของทุกปี เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานแห่งนี้  ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2545 เพราะมีการจัดการที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ระหว่างทางมีป้ายสื่อความหมายให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการนำเที่ยว

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (ตอนที่ 1)




ดอยอินทนนท์



อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
แต่ เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา

ดอยอินทนนท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพาดผ่านจากประเทศ เนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศด้วยความ สูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางเท่านั้น แต่สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวัน และบางครั้งน้ำค้างยังกลายเป็นน้ำค้างแข็ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาดสาย

การเดินทาง

ระยะทางจากตัวเมืองขึ้นไปจนถึง ยอดดอยอินทนนท์ประมาณ 106 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 57 ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ระยะทาง 48 กิโลเมตรถึงยอดดอยอินทนนท์ เป็นถนนลาดยางอย่างดีแต่ทางค่อนข้างสูงชัน รถที่นำขึ้นไปจะต้องมีสภาพดี ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถนั่งรถสองแถวสายเชียงใหม่-จอมทองบริเวณประตู เชียงใหม่ จากนั้นขึ้นรถสองแถวที่หน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารหรือที่น้ำตกแม่กลาง ซึ่งจะเป็นรถโดยสารประจำทางไปจนถึงที่ทำการอุทยานฯตรงหลักกิโลเมตรที่ 31 และหมู่บ้านใกล้เคียง แต่หากต้องการจะไปยังจุดต่าง ๆ  ต้องเหมาไปคันละประมาณ 800 บาท


ดอยอินทนนท์
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตั้งอยู่บริเวณ กิโลเมตรที่ 9 ของเส้นทางหมายเลข 1009 มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และมีนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ป่า และอื่น ๆ

บริเวณที่ทำการมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม สำรองที่พักล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 หรือ เว็บไซต์ www.dnp.go.th  อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทร. 0 5335 5728, 0 5331 1608, เว็บไซต์ www.doiinthanon.com

ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

สถานที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์น้ำตกแม่ยะ  เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจากหน้าผาที่สูงชัน 280 เมตร ลงมากระทบโขดหินเป็นชั้น ๆ เหมือนม่าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง น้ำใสเย็นเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอันสงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย บริเวณน้ำตกสะอาดและจัดการพื้นที่ได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม  การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง  1009 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไป 14 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 200 เมตร 

น้ำตกแม่กลาง


น้ำตกแม่กลาง  เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์ มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตร แยกซ้าย 500 เมตร เป็นทางลาดยางตลอด

ถ้ำบริจินดา  ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8-9 ของทางหลวงหมายเลข 1009 ใกล้กับน้ำตกแม่กลาง จะเห็นทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา ภายในถ้ำลึกหลายกิโลเมตร เพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อย หรือชาวเหนือเรียกว่า “นมผา” สวยงามมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุสามารถมองเห็นภายในได้ถนัด เพราะมีอุโมงค์ซึ่งแสงสว่างลอดเข้ามา บริเวณปากถ้ำจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ อธิบายประวัติการค้นพบถ้ำนี้

ภาพที่แนบมา
น้ำตกแม่ยะ
น้ำตกวชิรธาร  เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อ “ตาดฆ้องโยง”  น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง  ในช่วงที่มีน้ำมากละอองน้ำจะสาดกระเซ็นไปทั่วบริเวณรู้สึกได้ถึงความเย็นและ ชุ่มชื้น และสะพานไม้ที่ทอดยาวเข้าไปหาหน้าผานั้นจะเปียกลื่นอยู่ตลอดเวลา แต่หากเดินเข้าไปจนสุดจะได้สัมผัสกับความงามของน้ำตกมากที่สุด
การเดินทาง  จากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 21 จะเห็นป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตก ลงไป 500 เมตร ถนนจะถึงที่ตัวน้ำตก  อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางเดิมอยู่เลยจากทางแยกแรกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามป้ายและเดินจากลานจอดรถลงไปอีก 351 เมตร หากใช้เส้นทางนี้จะได้สัมผัสกับความงามของธรรมชาติรอบด้านตลอดทางเดิน

น้ำตกสิริภูมิ
  ไหลมาจากหน้าผาสูงชัน เป็นทางยาวสวยงามมาก สามารถมองเห็นได้จากบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เป็นสายน้ำตกแฝดไหลลงมาคู่กันแต่เดิมเรียกว่า “เลาลึ” ตามชื่อของหัวหน้าหมู่บ้านม้งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ น้ำตกสิริภูมิตั้งอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร แต่รถไม่สามารถเข้าไปใกล้ตัวน้ำตกได้ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปบริเวณด้านล่างของน้ำตก

โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในบริเวณดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์เป็นสถานีวิจัยดอกไม้เมืองหนาวเป็นหลัก พรรณไม้ที่ปลูกมากที่สุดคือเบญจมาศ เพราะมีสีสันสดใส นอกจากนั้นยังมีโครงการวิจัยสตรอว์เบอรรี โครงการศึกษาและรวบรวมพันธุ์เฟินชนิดต่างๆ โครงการวิจัยกาแฟ โครงการวิจัยฝรั่งคั้นน้ำ ไม้ผล เช่น สาลี่ พลับ กีวี ทิบทิมเมล็ดนิ่ม ฯลฯ ไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัส กุหลาบ เยอบีรา ฯลฯ ผัก เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ เซเลอรี ฯลฯ

ยังมีพืชผักสมุนไพร และไม้ผลขนาดเล็ก ซึ่งจัดจำหน่ายภายใต้ตรา "ดอยคำ" รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาเทร้าต์สายรุ้ง นอกจากนี้ยังมีประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ การทำนาข้าวขั้นบันไดของเผ่ากะเหรี่ยง ประเพณีกินวอของชาวเผ่าม้งบ้านขุนกลาง และแหล่งท่องเที่ยวเพื่อชมความงามธรรมชาติรอบๆพื้นที่ รวมทั้งกิจกรรมดูนกและชมดาว โครงการหลวงฯ ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านขุนกลาง ตำบลห้วยหลวง เดินทางตามเส้นทางสู่ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังเข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการหลวงฯนี้ รับผิดชอบส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่กะเหรี่ยงและม้งในพื้นที่

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง





ทะเลหมอกห้วยน้ำดัง


อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 
ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 179.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 112,187.5 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภูเขาที่สูงที่สุด คือ ดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย  ฤดูหนาวอากาศเย็น ลมแรง มีฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูร้อนอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 34 องศาเซลเซียส

สถานที่ที่มีผู้นิยมมาท่องเที่ยว ได้แก่
     
จุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดัง (ดอยกิ่วลม) ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง อยู่บริเวณที่ทำการอุทยาน เป็นจุดชมวิวที่สวยงามและมีชื่อเสียงมาก มองเห็นดอยเชียงดาว คอยชมพระอาทิตย์ขึ้นและชมทะเลหมอกในช่วงเช้าตรู่ได้  และในช่วงปลายฤดูหนาวดอกไม้กำลังบานสวยงามมาก
     
หมอกที่เกิดที่นี่คือ หมอกที่เกิดขึ้นในหุบเขา (Radiation Fog) เนื่องจากเวลากลางคืนในหุบเขาอุณหภูมิจะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นละอองน้ำ และปรากฏเป็นทะเลหมอกในเวลาเช้าหรือหลังฝนตก

ใกล้ ๆ กับที่ทำการจะมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติเอื้องเงิน มีระยะทาง 1,470 เมตร ความลาดชันปานกลาง ใช้เวลาในการเดินประมาณ 1 ชั่วโมง
      
การเดินทาง ไปยังอุทยานฯ จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ระยะทางประมาณ 37 กิโลเมตร ถึงตลาดแม่มาลัย อ.แม่แตง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1095 สายเชียงใหม่-ปาย อีกประมาณ 65 กิโลเมตร ถึงด่านตรวจอุทยานฯ ซึ่งอยู่ด้านขวามือเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ และหากเดินทางต่อไปอีก 1 กิโลเมตร ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว  หรือเดินทางโดยรถประจำทางจากสถานีขนส่งเชียงใหม่ สายเชียงใหม่-ปาย อัตราค่าโดยสาร 40 บาท/คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
     
ห้วยน้ำรู หรือ ดอยสามหมื่น ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว  มีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซอ ทัศนียภาพสวยงาม และชมการปลูกกาแฟและไม้ผลเมืองหนาว

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้ถนนสายเชียงใหม่-ห้วยน้ำดัง และเลยเข้าไปทางห้วยน้ำดังอีก 20 กิโลเมตร ทางยังไม่ลาดยางใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง มีบ้านพักแต่ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน ที่ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ บางเขน  กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 7586-7
     
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกห้วยน้ำดัง โป่งน้ำร้อนท่าปาย  น้ำตกแม่เย็น

ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง

คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
     
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก  อุทยานฯมีบ้านพักบริการ รวมทั้งสถานที่กางเต็นท์ ร้านอาหาร และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดติดต่อ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง หมู่ที่ 5 ตำบลกี๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทร. 0 5326 3910, 0 5354 8491, 0 5347 1669 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 
http://www.dnp.go.th/

อุทยานแห่งชาติจะทำการปิดลานกางเต็นท์ที่ 1-5 บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เส้นทางเดินป่าล่องแพน้ำแม่แตง เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยช้าง และเส้นทางศึกษาธรรมชาติเอื้องเงิน ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายนของทุกปี
  
ก่อนการเข้าไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวควรมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ โดยดูได้จากเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 
http://www.dnp.go.th/  และแนะนำนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่มี การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ ให้ติดต่อสอบถามหรือสำรองการเข้าไปใช้บริการ ล่วงหน้าก่อนการเดินทางที่อุทยานแห่งชาติโดยตรงได้ที่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5326 3910 ตลอด 24 ชั่วโมง และ 0 5324 8491 ระหว่าง 08.00-17.00 น.

อุทยานแห่งชาตฺหวยน้ำดัง